08 กรกฎาคม 2552

การอุตสาหกรรมและแหล่งวัตถุดิบ





อุตสาหกรรมหลัก คือ การท่องเที่ยวสามารถทำรายได้สูงถึง 29,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน พ.ศ. 2547 (Wikipedia,2008) คิดเป็นร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในสาธารณรัฐเฮลเลนิกในแต่ละปีเฉลี่ย 12.5 ล้านคน (Ben Berry, 2008)

รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์หลักที่สาธารณรัฐเฮลเลนิกส่งออกทั่วโลก คือน้ำมันมะกอกประมาณปีละ 430,000 เมตริกตัน ลองลงมาคือ น้ำผึ้ง เนยแข็ง ไวน์ สิ่งทอยาสูบ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะ สินแร่ และปิโตรเลียม ตามลำดับ (CIA, 2008)

ปัจจุบันสาธารณรัฐเฮลเลนิกได้มุ่งเน้นพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆทั่วโลก คือ

ในส่วนของอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมปิโตรเลียมกับอุตสาหกรรมการต่อเรือ จะเจริญเติบโตและดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งมีบริษัท Hellenic Petroleum S.A. เป็นบริษัทกลั่นปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2501 มีโรงกลั่นน้ำมันถึง 3 โรงตั้งอยู่ที่ กรุงเทสซาโลนิคิ (Thessaloniki) เมืองเอเลฟซินา (Elefsina) และ เมือง แอสโพรไพกอส (Aspropyrgos) ตามลำดับ นอกจากนั้นบริษัทยังดำเนินธุรกิจด้านปิโตรเคมี ขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติตลอดจนปฏิบัติการเดินเครื่อง (Operate)โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 390,000 กิโลวัตต์ และบริษัทมีสินทรัพย์รวม 4,166.8 ล้านยูโร ( ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551) (Hellenic Petroleum S.A., 2008) โดยรัฐบาลสาธารณรัฐเฮลเลนิกถือหุ้นร้อยละ 35.49 บริษัท Paneuropean Oil and Industrial Holdings S.A. ถือหุ้นร้อยละ 34.32 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30.19 เปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Wikipedia, 2008)

อุตสาหกรรมการต่อเรือ มี บริษัทHellenic Shipyards S.A.ที่กองทัพเรือของสาธารณรัฐเฮลเลนิกได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 ที่เมืองสคารามากาส (Skaramagas) ห่างจากกรุงเอเธนส์ไม่มากนัก 18 ปีต่อมาใน พ.ศ. 2500 กองทัพฯได้ขายกิจการให้กับนักธุรกิจชาวกรีกชื่อStavros Niarhos หลังจากนั้นได้เปลี่ยนเจ้าของจากภาคเอกชนไปเป็นภาครัฐและจากภาครัฐมาเป็นภาคเอกชนอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นบริษัทเต็มตัวอยู่ในเครือของ TKMS Group เป็นบริษัทอุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือรบและเรือพาณิชย์นาวีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและในบริเวณฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน (Hellenic Shipyards S.A., 2008)

ในส่วนของอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลาง ซึ่งจัดอยู่ในวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and Medium Sized Enterprises : SMEs) (เอสเอ็มอี) สาธารณรัฐเฮลเลนิกได้จัดตั้งองค์กรขึ้นดูแลให้สอดคล้องกับการสนับสนุนของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะ คือบรรษัทจัดการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางและผลิตภัณฑ์หัตถกรรม (The Hellenic Organization of Small and Medium Sized Enterprises and Handicraft S.A. : EOMMEX) ขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนา(Ministry of Development) มีภารกิจกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาเอสเอ็มอี ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเริ่มดำเนินกิจการ มุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและเพิ่มความสามารถให้เพียงพอที่จะปรับตัวได้ทันกับกระแสการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างโดยใช้ฐานความรู้ การสร้างสังคมผู้ประกอบการ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยการรังสรรค์ ไปสู่การพัฒนาความเป็นเลิศในกลุ่มสินค้าในตลาดโลก ตั้งสำนักงานอยู่ที่ใจกลางกรุงเอเธนส์

ธุรกิจเอสเอ็มอีในสาธารณรัฐเฮลเลนิกมี ประมาณ 733,000 หน่วย ใช้แรงงานรวม 1,695,000 คน และในเอสเอ็มอีดังกล่าวเกินครึ่งหนึ่ง คือ จำนวน 394,000 หน่วย มิได้ใช้แรงงานที่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่ใช้แรงงานจากบุคคลในครอบครัวโดยเฉลี่ย 11 คนต่อหน่วย (Hellenic Organization of Small and Medium Sized Enterprises and Handicraft S.A., 2008)