08 กรกฎาคม 2552
ขนบธรรมเนียมประเพณี
ชาวสาธารณรัฐเฮลเลนิกเรียกประเทศตัวเองว่า Hellas ซึ่งภาษากรีกในปัจจุบันออกเสียง ว่า Ellas โดยในการพูดทั่วไปจะใช้คำว่า Ellada และมักจะเรียกตัวเองว่า Hellenes แม้กระทั่งในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำภาษาอังกฤษ "Greece" มาจากชื่อละตินว่า Graecia หมายถึงพื้นที่ทางเหนือของสาธารณรัฐเฮลเลนิกในปัจจุบัน ซึ่งมีกลุ่มคนที่เรียกว่า Graikos อาศัยอยู่
สาธารณรัฐเฮลเลนิกมีชื่อเสียงทางเรื่องศิลปะเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่นและสง่างามของเสาหินแบบวิหารพาร์เธนอน ที่ตกแต่งตรงส่วนบนของหัวเสาด้วยศิลปะแบบกรีกมี 3 แบบ คือ ดอริก , ไอโอนิก และคอรินเธียน จะเห็นเสาหินแบบกรีกเป็นส่วนตกแต่งด้านหน้าของอาคารสำคัญๆและสิ่งก่อสร้างที่เป็นงานสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อของโลกตามเมืองหลวงของประเทศต่างๆในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย สถานที่ทำงานสำคัญๆ ของประเทศที่มีชื่อเสียงต่างๆ ล้วนนำสถาปัตยกรรมศิลป์ของกรีซไปประยุคผสมผสาน ในการก่อสร้างเป็นการยอมรับในอารยธรรมที่รุ่งเรืองของกรีซโบราณและเป็นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่เคยเฟื่องฟูในอดีตของสาธารณรัฐเฮลเลนิกไปทุกมุมโลกนอกจาก งานสถาปัตยกรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสาธารณรัฐเฮลเลนิกที่เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว งานจิตรกรรมและประติมากรรมของสาธารณรัฐเฮลเลนิกยังเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรดาพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่างๆ พยายามเสาะหามาเป็นสมบัติเก็บสะสมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คุณลักษณะพิเศษของชนชาติกรีกที่โดดเด่นกว่าชนชาติอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน คือ การเป็นคนช่างคิด ใฝ่หาความรู้ ชอบใช้เหตุผล ชอบแสดงวาทะ และเป็นผู้มีจินตนาการที่สูง การมีจินตนาการ คนทั่วๆ ไปมักจะมองว่าเป็นเรื่อง เพ้อฝัน แต่แท้จริงแล้วจินตนาการนี้เองที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ ความคิดทางวิทยาศาสตร์ก็มาจากจินตนาการ ประวัติการหาความรู้ของมนุษย์ที่มีความคิดอย่างมีระบบและใช้เหตุผลจึงเกิดขึ้นในดินแดนกรีซเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ชาวสาธารณรัฐเฮลเลนิกยังยึดมั่นในในแนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) คือการเชื่อมั่นในศักยภาพคุณค่าและความสามารถของมนุษย์ มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ความเจริญได้โดยไม่ต้องพึ่งเทพเจ้าบวกกับแนวคิดธรรมชาตินิยม หรือลัทธิสภาวนิยม (Naturalism) ที่อธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล มีระเบียบแบบแผน และพยายามที่จะแสวงหาธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ แนวความคิดนี้คือจุดเริ่มต้นของแนวคิดวิทยาศาสตร์และรากฐานของศาสตร์ต่างๆ นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ว่าในช่วงยุคกลางของยุโรปแนวคิดทั้งสองจะหยุดชะงักไปด้วยอำนาจอิทธิพลคำสอนของศาสนจักร แต่เมื่อเข้าสู่สมัยแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 แนวคิดทั้งสองได้ฟื้นตัวขึ้นมา และการกลับมาครั้งนี้ได้ปูทางนำไปสู่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต่อด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความเจริญก้าวหน้าก็ยังคงต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งจนถึงทุกวันนี้ (Bangkok university, 2008)