08 กรกฎาคม 2552

ระบบการปกครองในปัจจุบัน





ฝ่ายบริหาร

ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภา (The Hellenic Parliament) โดยต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี) รัฐสภาอาจจะกล่าวโทษประธานาธิบดี ถ้ามีผู้สนับสนุนไม่ต่ำกว่าจำนวน 1 ใน 3 และต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ในการผ่านญัตติ ประธานาธิบดีอาจจะยุบสภาได้ด้วยคำแนะนำของคณะรัฐบาลหรือความยินยอมของสภาแห่งสาธารณรัฐ (Council of the Republic)

สภาแห่งสาธารณรัฐ( Council of the Republic) เป็นเสมือนที่ปรึกษาของประธานาธิบดี ประกอบด้วย อดีตประธานาธิบดี อดีตนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สภาแห่งสาธารณรัฐอาจจะช่วยจัดตั้งรัฐบาลในกรณีที่พรรคการเมืองใหญ่ๆ ไม่สามารถตกลงกับจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภา นอกจากนี้ สภาแห่งสาธารณรัฐอาจให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภา

นอกจากนี้รัฐสภาต้องให้ความไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ด้วย และรัฐบาลก็อาจถูกยุบได้ด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจจากรัฐสภา

ฝ่ายนิติบัญญัติ

ร่างกฎหมายที่จะผ่านรัฐสภาต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีซึ่งมีสิทธิคัดค้านได้ แต่การคัดค้านกฎหมายของประธานาธิบดีจะไม่มีผล ถ้าเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภายังยืนยันสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว

รัฐสภา ประกอบด้วยผู้แทนราษฎร 300 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยทางตรง (The Hellenic Parliament) มีวาระ 4 ปี

ฝ่ายตุลาการ

รัฐธรรมนูญของกรีซได้บัญญัติการใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาลซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

- ศาลแพ่ง
- ศาลอาญา
- ศาลปกครอง

แต่ละศาลประกอบด้วยผู้พิพากษาตั้งแต่หนึ่งคนหรือหลายคนก็ได้ ทำการพิจารณาพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีโดยยุติธรรมอย่างอิสระภายใต้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของรัฐนั้นๆ และคำพิพากษาจะต้องประกาศต่อสาธารณชนให้รับรู้อย่างเป็นทางการ

ศาลสูงของคดีแพ่งและคดีอาญาคือ Court of Cassation ส่วนศาลปกครองก็จะมี Council of State ทำหน้าที่เป็นศาลปกครองสูงสุด

นอกจากนั้นสาธารณรัฐเฮลเลนิก ยังมีศาลสูงพิเศษมีอำนาจตัดสินเรื่องราวเฉพาะองค์กร เช่นศาลทหาร เป็นต้น (NationMaster, 2008)

การแต่งตั้งผู้พิพากษา ประธานาธิบดีโดยคำแนะนำของสภาตุลาการจะแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาตลอดชีวิต ผู้พิพากษาจะเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อผู้ใด (Apecthai, 2003)

ระบบการเลือกตั้ง

สาธารณรัฐเฮลเลนิก มีสภาเดียวประกอบด้วยผู้แทนราษฎร 300 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยทางตรง

การปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

การปกครองส่วนภูมิภาค สาธารณรัฐเฮลเลนิก แบ่งการปกครองประเทศออกเป็น 13 เขต/แคว้น (peripheries) มี 9 เขตบนผืนแผ่นดินใหญ่ และ 4 เขตบนหมู่เกาะ เขตต่าง ๆ จะแบ่งเป็นจังหวัด รวม 54 จังหวัด (prefectures - nomos)

- อัตติกะ (Attica)
- เซนทรัลกรีซ (Central Greece)
- เซนทรัลมาซิโดเนีย (Central Macedonia)
- ครีต (Crete)
- อีสต์มาซิโดเนียและเทรซ (East Macedonia and Thrace)
- อิไพรัส (Epirus)
- ไอโอเนียนไอแลนส์ (Ionian Islands)
- นอร์ทอีเจียน (North Aegean)
- เพโลพอนนีส (Peloponnese)
- เซาท์อีเจียน (South Aegean)
- เทสซาลี (Thessaly)
- เวสต์กรีซ (West Greece)
- เวสต์มาซิโดเนีย (West Macedonia)

นอกจากนี้ทางแถบมาซิโดเนีย ยังมี เขตปกครองตนเอง (autonomous region) ของสงฆ์หนึ่งแห่ง คือ เมานต์อะทอส (Mount Athos) (Wikipedia,2008)

แต่ละเขตจะมีเลขาธิการเขต (Secretary General of the Region : SGR) รับผิดชอบปกครองเขตนั้นๆ ภายใต้นโยบายรัฐบาลและบทบัญญัติที่เขตกำหนด โดยการควบคุม กำกับ ประสานงานและตรวจสอบหน่วยงานทุกหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน แต่ละเขตมีสมาชิกเขตซึ่งประกอบด้วยเลขาธิการเขต กงสุล สหภาพแรงงานต่างๆ และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละสาขาวิชาชีพ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสร้างความมั่นใจในการรักษาผลประโยชน์ของเขต (Hellenic Republic Ministry of The Interior,Public Administration and Decentralization, 2005)

การปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองในส่วนนี้จะจัดในรูปของเทศบาลและชุมชน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกิจกรรมที่มีการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะในพื้นที่นั้นๆทั้งทางด้านสังคม การเงิน วัฒนธรรม และผลประโยชน์ต่อประชากร ผู้นำเทศบาล/ชุมชนจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน (Hellenic Republic Ministry of The Interior,Public Administration and Decentralization, 2005)